- ระบบภูมิคุ้มกันมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากมีการหลั่งฮอร์โมน cortisol มากขึ้น ทำให้ไปกดการทำงานของ lymphocyte, granulocyte และ T cell ส่งผลให้ร่างกายหายจากโรคต่างๆได้ช้าลง
- ทำให้มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอลดลง เพราะร่างกายมีการหลั่ง growth hormone ที่ลดลงไป รวมถึงมีผลต่อการเจริญเติบโต และทำให้ร่างกายฟื้นตัวจากโรคได้ช้า ร่างกายมีภาวะอ่อนเพลียส่งผลให้ความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆลดลง
- การนอนไม่หลับยังมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่ลดลง เพราะคนที่นอนไม่หลับจะมีอัตราการเผาผลาญมากขึ้น และความต้องการอาหารมากขึ้น ถ้าพบการนอนไม่หลับยาวนานมากกว่า 24 ชั่วโมง จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ท้องผูกหรือท้องเสีย อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้อคออ่อนแรง และกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงลดลง หรือบางคนอาจเกิดอาการทางด้านจิตใจ และอารมณ์ เช่น โกรธ ฉุนเฉียวง่าย ซึมเศร้า เฉื่อยชา
ผู้สูงอายุกับการนอนไม่หลับ
หากพิจารณาในเรื่องอายุของผู้ที่นอนไม่หลับจะพบว่า ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านนี้ถึง 12-41% และจากการสำรวจพบว่าความชุกของการนอนไม่หลับจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยมากขึ้น 1.1 เท่าของทุก ๆ ช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น 10 ปี
อาการนอนไม่หลับชนิดเรื้อรังจะสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพ โดยพบว่า ผู้สูงอายุที่ยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จะไม่พบอาการนอนไม่หลับชนิดเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นไปตามวัยที่สูงขึ้น เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านอายุ พบว่า ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป จนถึงประมาณ 65 ปี อาการนอนไม่หลับไม่มีความแตกต่างกัน แต่จะพบอาการมากขึ้นเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ในอดีต พบว่า หากอายุมากขึ้นจะไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการนอนไม่หลับที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบัน พบว่า การนอนไม่หลับนั้นมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น รวมถึงระดับความรุนแรงของการนอนไม่หลับด้วย